
นายภัทรพงษ์ เก่าเงิน นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ดำเนินงานบูรณะเจดีย์ประธานวัดสิงหารามด้านทิศตะวันออก บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา ปี 2555 ได้พบกรุเจดีย์ประธานด้านทิศตะวันออก
เป็นห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 1.5 x 1.5 เมตร สภาพของพื้นภายในกรุได้ถูกขุดทำลายไปจนหมดไม่พบร่องรอยหลักฐานอื่น บริเวณผนังกรุทั้ง 4 ด้านปรากฏร่องรอยของภาพจิตรกรรม สันนิษฐานว่า แต่เดิมภายในกรุคงประดิษฐานพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว

ทั้งนี้ ภาพจิตรกรรมประดับผนังคูหา แต่ละด้านเป็นภาพเขียนสีรูปพุทธสาวกจำนวน 3 รูป อยู่ในท่าเดินพนมมือ ลักษณะเดินเวียนขวาประทักษิณ เทคนิคในการเขียนสีจะใช้สีเหลืองเป็นสีพื้นผนังและใช้สีแดงตัดขอบเป็นโครงรูปทั้งหมด ในส่วนของสีพื้นของรูปนั้นมีการใช้สีแดงเป็นพื้นของจีวร และสีดำเป็นพื้นของเศียรพระ
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบคติและเทคนิควิธีการสร้างนั้น จะเทียบได้กับภาพจิตรกรรมในสมัยอยุธยายุคต้น ที่พบในบริเวณกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เขียนเป็นภาพพุทธประวัติ และทศชาติชาดกนั้น พบว่ามีการใช้สีดำ สีแดง และสีเหลืองดินเป็นสีหลักในการเขียนที่เหมือนกัน ดังนั้น จึงคาดว่าภาพเขียนสีภายในกรุวัดเจดีย์ประธานวัดสิงหารามนี้ น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น-ตอนกลาง ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19-22 หรือประมาณ 500 ปี
ที่มา :
http://news.mthai.com/general-news/159627.html
ภาพประกอบจาก http://www.dailynews.co.th/
____________________
เครดิต :
________________________________
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น