นาซานำยานเคอเรียสซิตี้ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร ประสบความสำเร็จเมื่อเวลา 12.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เดินเครื่องภารกิจสำรวจสิ่งมีชีวิต...
“คิวริออซิตี” เป็นยานพาหนะ 6 ล้อ น้ำหนัก 1 ตัน ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ใหญ่กว่าและหนักกว่ายานที่เคยถูกใช้สำรวจดาวอังคารเมื่อปี 2547 ใช้เวลาเดินทางจากโลกไปดาวอังคารนาน 8 เดือน ระยะทาง 248 ล้านกิโลเมตร ถึงชั้นบรรยากาศดาวอังคารคืนวันอาทิตย์ (5 ส.ค.) ด้วยความเร็ว 20,921 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือเร็วกว่าเสียงบนพื้นโลก 17 เท่า
ยานมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาทของนาซาลงจอดพื้นผิวดาวอังคารสำเร็จ ท่ามกลางความยินดีของนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ และนับเป็นความพยายามในการนำยานลงจอดครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์
ในการลงจอดครั้งนี้ ก็มีการทวีตเล่าเหตุการณ์โดย @MarsCuriosity “ฉันอยู่บนพื้นผิวดาวอังคารอย่างปลอดภัยแล้ว หลุมเกลฉันเข้ามาอยู่ในเธอแล้วนะ!!” ด้วย ส่วนวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมในโครงการนี้มาร่วม 10 ปี ต่างก็แสดงความยินดีและโผเข้ากอดกัน
2 ภาพแรกยืนยันยานนาซาลงจอดดาวอังคาร
หลังผ่านช่วงเวลา 7 นาทีแห่งการลุ้นระทึก ภาพที่ยาน “คิวริออซิตี” ของนาซาส่งกลับมายังโลก เป็นสิ่งที่ยืนยันว่ายานในปฏบัติการสำรวจดาวอังคารลงจอดประสบควมสำเร็จ
ภาพแรกเป็นภาพล้อของยานคิวริออซิตีบนพื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่ายานลงจอดสำเร็จ และอีกภาพคือภาพเงาของยานที่ทาบลงบนพื้นผิวดาวอังคาร โดยเอเอฟพีระบุว่า ความสำเร็จครั้งนี้นับเป็นความพยายามในการทำสิ่งที่ยากลำบากที่สุดในประวัติศาสตร์
บีบีซีนิวส์ระบุว่า ภาพชุดแรกที่คิวริออซิตีส่งมานี้เป็นภาพความละเอียดต่ำที่เผยให้เห็นล้อและเงาของยานบนดาวอังคาร และเผยฝุ่นที่เกาะอุปกรณ์บังเลนส์ซึ่งยังไม่ถูกปัดออก ส่วนภาพสีของสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวยานจะถูกส่งมาในอีกหลายวันข้างหน้า ซึ่งหลังจากลงจอดแล้วนักวิทยาศาสตร์ของนาซายังต้องตรวจสภาพของยานมีส่วนใดบุบสลายหรือไม่
ทั้งนี้ ภาพถ่ายฝุ่นตลบของล้อยานบนพื้นดาวอังคารจากกล้องที่ติดบนยานเป็นที่สิ่งที่ยืนยันว่า ยานอวกาศขนาดเท่ารถมินิ พร้อมด้วยเครื่องไม้เครื่องมืออันซับซ้อนของยานที่ออกแบบมาเพื่อค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตที่อาจจะเคยมีอยู่บนดาวอังคารนั้นได้ไปถึงดาวอังคารเรียบร้อยแล้ว ส่วนภาพที่ 2 ที่ส่งมาก็เป็นภาพเงาของยานที่ทาบลงบนพื้นผิวดาวอังคาร
เอเอฟพีระบุว่าเมื่อประกาศการลงจอดหลังผ่าน 7 นาทีอันตรายแล้ว ภายในห้องควบคุมแต่ไปด้วยบรรยากาศของความตื่นเต้นยินดีจากทีมงานของนาซา (Update!) ส่วนบีบีซีนิวส์ระบุเวลา ที่ยานลงจอดคือ 12.32 น.ของวันที่ 6 ส.ค. ตามเวลาประเทศไทย โดยลงจอดในหลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรของดาวเคราะห์
ทางด้าน ชาร์ลส โบลเดน (Charles Bolden) ผู้อำนวยการของนาซา ได้แถลงหลังการลงจอดสำเร็จว่า ล้อของยานคิวริออซิตี เป็นจุดเริ่มต้นของแสงสว่างที่ส่องทางเพื่อให้มนุษย์ขึ้นไปประทับรอยเท้าบนดาวอังคาร
ทั้งนี้ นาซาส่งยานขึ้นไปตั้งวันที่ 26 พ.ย.2011 โดยสเปซด็อทคอมระบุว่าเป็นภารกิจที่น่าจับตา เนื่องจากเป็นความพยายามในการส่งยานอวกาศขนาดรถมินิคูเปอร์ออกจากโลกไปไกลหลายล้านกิโลเมตร แล้วลงจอดบนพื้นผิวดาวเคราะห์ด้วยอื่น ซึ่งภารกิจของยานมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาทนี้จะกินเวลานาน 2 ปี โดยมีหน้าที่สำรวจภายในหลุมอุกกาบาตเกลและตามล่าหลักฐานการมีมหาสมุทรโบราณบนดาวแดง
บีบีซีนิวส์ระบุว่ายานคิวริออซิตีนับเป็นยานลำที่ 4 ของนาซาที่ลงจอดบนดาวอังคาร แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่โตและความซับซ้อนของยานทำให้ยานสำรวจลำอื่นๆ เล็กลงไปถนัด เฉพาะเครื่องมือของยานอย่างเดียวก็ใหญ่กว่ายานสำรวจลำแรกๆ ที่ส่งขึ้นไปดาวอังคารเมื่อปี 1997 ถึง 4 เท่า
ภารกิจ
ภารกิจของคิวริออซิตีคือการสำรวจใจกลางภูเขาที่สุงกว่า 5 กิโลเมตรในหลุมอุกกาบาตเกล โดยยานจะปีนเขาและศึกษาหินของภูเขาซึ่งมีอายุหลายพันล้านปี เพื่อค้นหาร่องรอยของน้ำ รวมถึงหาหลักฐานของสิ่งแวดล้อมในอดีตที่น่าจะมีร่องรอยของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์แจงว่าภารกิจดังกล่าวไม่ใช่ภารกิจที่เร่งด่วน
สำหรับพลังงานของยานนั้นจะใช้แบตเตอรีพลูโตเนียม ซึ่งมีอายุยาวนานกว่าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ในยานสำรวจดาวอังคารลำอื่นๆ และเบื้องต้นยานได้ทุนสนับสนุนในการดำเนินการเป็นเวลา 2 ปี แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าปฏิบัติการครั้งนี้จะมีบทบาทต่อไปนานนับสิบปีหรือมากกว่านั้น
หลุมอุกกาบาตเกล () เป้าหมายลงจอดของยานคิวริออซิตี (บีบีซีนิวส์/นาซา)
แผนที่แสดงจุดลงจอดยานต่างๆ ของนาซา (บีบีซีนิวส์/นาซา)
ส่วนประกอบสำคัญของยาน “คิวริออซิตี” (Curiosity) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ซึ่งลงจอดบนดาวอังคารเมื่อ 12.32 น. วันที่ 6 ส.ค.2012 ตามเวลาประเทศไทย มีดังนี้
(A) ล้อกลิ้งที่จะพายานคิวริออซิตีเคลื่อนที่ไปรอบๆ เพื่อค้นหาก้อนหินที่มีลักษณะน่าสนใจด้วยความเร็ว 4 เซนติเมตรต่อวินาที
(B) ระบกล้องและเลเซอร์, คิวริออซิตีมีกล้องรวมทั้งหมด 17 ตัว ซึ่งจะทำหน้าที่จำแนกเป้าหมายแยกกัน ส่วนแสงเลเซอร์จากยานสำรวจจะยิงไปที่หินเหล่านั้นเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี
© หากสัญญาณที่ได้ชี้ว่ามีความสำคัญ คิวริออซิตีก็จะเหวี่ยงเครื่องมือจากแขนกลเพื่อเข้าไปสำรวจองค์ประกอบใกล้ๆ โดยแขนกลดังกล่าวยังติดตั้งกล้องจุลทรรศน์ไว้ด้วย
(D) ตัวอย่างที่เจาะออกจากหินที่สนใจ หรือตัวอย่างที่ตักขึ้นจากดิน จะถูกส่งเข้าไปวิเคราะห์ด้วยแล็บไฮเทคซึ่งอยู่ภายในตัวยาน
(E) ผลจากการวิเคราะห์จะถูกส่งข้อมูลกลับมายังโลกผ่านเสาอากาศ และคำสั่งที่ส่งกลับจากโลกจะบอกยานว่าควรจะไปสำรวจที่ใดต่อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น