จิตใต้สำนึก / Subconscious Mind
คราวที่แล้ว เราเรียนรู้ว่าเราทุกคนสามารถใช้พลังจิตได้ (และหลายคนสามารถพิสูจน์ได้) คราวนี้ เราจะเริ่มเรียนรู้การทำงานของพลังจิต โดยเริ่มจาก รู้จักกับจิตใต้สำนึก (Subconscious Mind) คำว่าจิตใต้สำนึกนี้ เราจะพบในหนังสือ เวบไซต์ และสถาบันที่ศึกษาเรื่องพลังจิตแทบทุกที่ ว่ากันว่า จิตใต้สำนึกของเรานั้นมีพลังไร้ขีดจำกัด และว่ากันว่า ถ้าเราไม่รู้จักจิตใต้สำนึกแล้วเราใช้ความสามารถเพียง 7% แล้วก็ว่ากันว่า (อีกแล้ว) ว่าในการใช้พลังพิเศษ เราต้องใช้พลังจากจิตใต้สำนึก สรุปแล้วจิตใต้สำนึกมันทำไมสำคัญนัก มันคืออะไรกันแน่ ในครั้งนี้เราจะคุยกันถึงเรื่องนี้กัน
เรื่องของจิต จิตสำนึก และจิตใต้สำนึก
ก่อน อื่น เราต้องทำความเข้าใจว่าจิตคืออะไรกันแน่ เพราะจริงๆ แล้ว คำว่า "จิต" เองมีการใช้กันอย่างสับสน บางทีเราจะพูดว่าจิตแข็ง นั่นแสดงถึงระดับความมานะและความดื้อรั้น จิตตก นั่นหมายถึงหมดกำลังใจ จิตหลอน นั่นหมายถึงการรับรู้ข้อมูลซึ่งผิดปกติ ฯลฯ แต่สำหรับบทความนี้ เราจะพูดถึงจิตที่หมายถึงสิ่งที่เรารับรู้ จริงๆ แล้ว รอบๆ ตัวเรานี้เต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง บางอย่างพบเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น หรือรับรู้ได้ง่ายๆ เช่น หน้าจอ
คีย์บอร์ด เป็นสิ่งที่จิตเรา รับรู้ได้ง่ายๆ ซึ่งก็คือจิตของเราสามารถสำนึกถึงสิ่งเหล่านี้ได้ง่าย แต่ในทางกลับกัน มีบางอย่างที่รับรู้ยาก เช่น การเต้นของหัวใจ การไหลของพลาสม่าบนจอมอนิเตอร์ วิญญาณ และความรู้สึกของคนอื่นที่อยู่รอบๆ เรา ที่ปกติเราจะไม่รู้สึก และนั่นหมายความว่า จิตของเราไม่ได้สำนึกถึงสิ่งเหล่านั้น ดังนั้น จิตสำนึก ก็คือ การรับรู้ของจิต ถ้า เราสำนึกผิด แสดงว่าเรารับรู้กระบวนการต้นสายปลายเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เราพลาด แต่ถ้าเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราทำอะไรผิด (เรายังไม่สำนึกผิดเลย) เราจะเรียกสิ่งที่อยู่นอกเหนือจิตสำนึก ซึ่งเราจะไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่อยู่ใต้จิตสำนึก ว่า จิตใต้สำนึก นั่นเอง เช่นเวลาที่เราไม่รู้สึกถึงการเต้นของชีพจร การเต้นของชีพจรก็อยู่ในข่ายจิตใต้สำนึก เวลาที่เราเกิดโกรธใครโดยไม่รุ้ตัว เราก็โกรธจากจิตใต้สำนึก ระวังอย่าเข้าใจผิด! หลายๆ คนและหนังสือหลายๆ เล่มพยายามจัดประเภทของกิจกรรมและเรื่องราวต่างๆ แต่ละอย่างว่าเป็นเรื่องของจิตสำนึกหรือจิตใต้สำนึก แต่จริงๆ แล้วอย่าลืมว่า ขอบเขตของมันอยู่ที่การรับรู้ ถ้าเรารู้โดยชัดเจน มันคือจิตสำนึก การระลึกชาติปกติเราไม่รู้ ดังนั้นมันคือจิตใต้สำนึก แต่ในขณะที่คุณระลึกชาติอยู่ และทำได้สำเร็จ มันกลายเป็นเรื่องของจิตสำนึก ดังนั้นที่สุดแล้วไม่มีอะไรที่เป็นจิตสำนึกหรือจิตให้สำนึกเสมอไปหรอก มันขึ้นอยู่กับระดับการรับรู้
พลังพิเศษของจิตใต้สำนึก ...
ถ้า สมมุติเราปิดหน้าจอคอม เราก็จะเล่นคอมไม่ได้ (ถึงแม้จะเปิดเครื่องแล้วก็ตาม) เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่สำนึกหรือรับรู้ถึงสิ่งใด เราก็ย่อมไม่สามารถใช้สิ่งนั้นได้ฉันนั้น ดังนั้น เราจะทำอะไร เราต้องทำให้สิ่งนั้นมาอยู่ในขอบเขตของจิตสำนึกของเรา รวมถึงพลังจิตการเข้าถึงอาณาเขตของบางอย่างที่เคยเป็นจิตใต้สำนึกนี่แหละ ที่มักจะเรียกกันว่า การเปิดจิตใต้สำนึก แต่จริงๆ เราแค่ขยายเขตของจิตสำนึกออกไปจนครอบคลุมเรื่องที่เราจะทำนั่นเอง จิตใต้สำนึกไม่ได้เปิดหรือปิดจริงๆ หรอกครับ แต่มันเหมือนกับว่าเราแหย่เข้าไปในเขตที่เคยเป็นของจิตใต้สำนึกเท่านั้น เอาละ พอเราขยายจิตสำนึกหน้าจอเปิด เราก็เล่นคอมได้ ถ้าเรารู้สึกถึงพลังปราณ เราก็หัดใช้ปราณได้ ถ้าเรารู้สึกถึงอารมณ์อย่างทันเวลา เราก็อาจจัดการอารมณ์ได้ และจริงๆ แล้ว ยังมีสิ่งต่างๆ รอบตัวเราที่รอให้เรารับรู้และใช้งานอีกมากมายมหาศาล นั่นเป็นเหตุผลที่หลายคนจะบอกคุณว่า พลังที่แท้จริงของมนุษย์ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกไงล่ะ!
ตัวอย่างแรก - เวลาไฟใหม้ หลายๆ คนจะสามารถยกของหนักกว่าตัวมากๆ แล้ววิ่งได้สบายๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว ถ้าไฟไม่ไหม้จะทำไม่ได้ เพราะกลไกการออกแรงนั้นอยู่ในจิตใต้สำนึก พวกเขาจึงบังคับมันไม่ได้
ตัวอย่างที่สอง - บางทีเรารับรู้อนาคตอย่างเลือนรางสุดๆ จนใช้อะไรไม่ได้ นั่นเป็นเพราะความสามารถในการหยั่งรู้และอำนาจจิตอื่นๆ ส่วนใหญ่อยู่ในจิตใต้สำนึก
ตัวอย่างที่สาม - ไอเดียหรือความรู้บางอย่างที่ไม่มีใครคิดได้มาก่อน จริงๆ แล้ว ไอเดียเหล่านั้นมีอยู่มากมายในจิตใต้สำนึก แต่เรามองไม่เห็นมันจึงไม่สามารถคิดเรื่องนั้นได้
นั่นคือ ถ้าเราขยายจิตใต้สำนึกออกไปมากพอ เราจะรับรู้และมีโอกาสที่จะทำสิ่งต่างๆ มากกว่าเดิม
สัญชาติญาน ...
ใน บางสถานการณ์ เรามักทำอะไรที่เราไม่เคยทำได้โดยไม่รู้ตัว เช่นวิ่งหนีอะไรบางอย่างด้วยความเร็วและความอดทนราวกับนักกีฬาตัว จริง..เพราะตกใจ! หรือบางครั้ง เวลาที่เราต้องเลือกอะไรสักอย่าง เราอาจรู้สึกเหมือนต้องเลือกสิ่งของชิ้นหนึ่งอย่างไม่ทราบสาเหตุ และพบภายหลังว่า นั่นเป็นทางเลือกที่ฉลาดที่สุดแล้ว จริงๆ แล้วตลอดเวลาทีเราใช้ชีวิต จิตของเราได้เก็บข้อมูลและเรียนรู้สิ่งต่างๆ
ตลอดเวลา เพื่อให้เราเอาตัวรอดจากอันตรายได้ทันโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคิด โดยที่การตอบสนองต่ออันตรายนี้จะทำงานโดยอัตโนมัติ นั่นคือ ต่อให้เราไม่รู้และไม่ได้สั่ง มันก็ยังทำงาน ใช่แล้วไม่รู้และไม่ได้สั่ง มันก็ถือเป็นจิตใต้สำนึก และแท้ที่จริงข้อมูลและทักษะมหาศาลตั้งแต่การกะพริบตาไปจนถึงการรักษาด้วย พลังจิตและพลังอื่นๆ อีกมาก ได้ถูกบันทึกไว้ในส่วนของสัญชาติญาน แต่มันอยู่ในจิตใต้สำนึก เพราะอะไรน่ะหรือ? มันก็เหมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับมือใหม่นั่นแหละ อะไรที่เราไม่จำเป็นต้องสนใจเขาก็ทำมาให้เป็นค่าอัตโนมัติก่อน ไว้ถ้าเราชำนาญเมื่อไหร่ค่อยดัดแปลงเอา ไม่งั้นปรับมั่วมันจะพังเอาน่ะสิ
การปรับเปลี่ยนระดับจิตใต้สำนึก ...
บอก ตามตรงว่าจริงๆ แล้ว วิธีการฝึกเพื่อเปลี่ยนระดับจิตใต้สำนึกนั้นมีเป็นพันครับ และแต่ละวิธีก็เหมาะกับแต่ละคนในแต่ละช่วงเวลา ไม่มีวิธีไหนเป็นวิธีที่ดีที่สุด คุณต้องลองเอง หลักการก็ง่ายๆ การจะฝึกวิ่ง ก็คือวิ่ง การจะฝึกการรับรู้ ก็คือรับรู้
นี่เป็นตัวอย่างบางวิธีครับ
1. เวลาที่เราเข้าไปในสถานที่ใหม่ๆ หรือพบคนใหม่ๆ พยายามสัมผัสความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจเรา ความรู้สึกบางอย่างออกมาจากสถานที่หรือบุคคลที่เราติดต่อด้วย
2. ถ้าว่าง จัดท่าทางให้สบาย ทำใจให้สบาย ผ่อนคลาย ไม่จำเป้นต้องหลับตา หายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ ยาวๆ นับจังหวะหายใจเข้าและออกให้เท่ากัน ความยาวไม่สำคัญเท่าจังหวะ ต้องให้สม่ำเสมอเท่ากันทั้งเข้าออก ถ้าจะเปลี่ยนความยาวก็ต้องเปลี่ยนให้เท่ากันด้วย ทำแบบนี้ไปสักพัก จะรู้สึกสบาย จิตจะละเอียดขึ้น กำหนดจุดสนใจไปที่ลมหายใจ ตัดความสนใจเรื่องอื่นๆ ออกไป จากนั้นขยายออกไปทั่วตัว สัมผัสการเคลื่อนไหวภายใน ลมหายใจ ปอด แรงสะเทือน ฯลฯ ขยายออกไปอีก สัมผัสอากาศรอบๆ ตัว รอบๆห้อง และขยายออกไปอีกถ้าทำได้ แน่นอน เราต้องรู้สึกถึงสิ่งที่อยู่ในขอบเขตนั้นด้วย ไม่ว่าอะไรที่มีอยู่ในนั้นแม้เล็กน้อย เราต้องรู้สึกมันทุกรายละเอียด เพียงแค่รับรู้เฉยๆ อย่าไปวุ่นวายตัดสินหรือคิดอะไรต่อเนื่อง ระหว่างที่ทำแบบนี้ จะมีความคิดหลุดออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ แรกๆ เราจะควบคุมมันไม่ได้ อย่าซีเรียสครับ มันควรจะเป็นแบบนั้น แต่ที่จะต้องทำให้ได้คือ ดูมัน ว่ามันเป็นความคิดหรือความรู้สึกอะไร และที่สำคัญ อย่าไปตัดสินว่ามันดีหรือไม่ดี สำรวจมันอย่างธรรมชาติ การสำรวจความจิตและความคิดในขณะที่มันทำงานโดยอิสระเป็นจุดสำคัญของแบบฝึก นี้ ขอให้ฝึกจนชำนาญ แบบฝึกนี้จะเป็นพื้นฐานให้กับแบบฝึกหลังๆ ครับ
สรุป
1. จิตสำนึก คือขอบเขตที่เรารับรู้ได้ ซึ่งไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับระดับของจิต
2. ในจิตใต้สำนึก มีสิ่งต่างๆ ซ่อนอยู่มากมายรอให้เราค้นพบและเล่นกับมัน
3. โดยธรรมชาติ เราจะไม่ได้สัมผัสและควบคุมจิตใต้สำนึกตั้งแต่ต้น เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
4. การฝึกเปลี่ยนระดับจิตใต้สำนึก มีหลักการง่ายๆ แค่ตั้งใจรับรู้และสังเกตรายละเอียดของสิ่งที่เป็นเป้าหมายในการฝึก โดยเริ่มฝึกจากการฝึกสังเกตความรู้สึกนึกคิดของเราเอง
ที่มา: http://fantasiastory-th.blogspot.com/2007_10_01_archive.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น