วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อาถรรพ์ เเม่ซื้อทั้ง 7 วัน ภูติพิทักษ์ทารก

แม่ซื้อ” เป็นแม่ในความเชื่อของคนสมัยก่อน ที่เชื่อว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาต้องมีแม่ซื้อประจำวันเกิดคอยดูแล เพื่อพิทักษ์รักษาไม่ให้เด็กเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นความเชื่อที่มีอยู่ทุกภาค

ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยได้มีกล่าวถึงแม่ซื้อ ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้างตาม พื้นที่ แต่ก็มีความน่าสนใจที่ควรจะได้ทราบเป็นความรู้ไว้บ้าง ดังนี้

ภาคกลาง เชื่อว่า “แม่ซื้อ”เป็นภูตประจำทารก มีอยู่ ๗ ตน มีชื่อเรียกต่างๆ กัน

1. แม่ซื้อวันอาทิตย์ชื่อ “วิจิตรมาวรรณ” มีหัวเป็นสิงห์ มีผิวกายสีแดง

2. วันจันทร์ชื่อ “วรรณนงคราญ” มีหัวเป็นม้า มีผิวสีขาวนวล

3. วันอังคารชื่อ “ยักษบริสุทธิ์" มีหัวเป็นมหิงสา (ควาย) ผิวกายสีชมพู

4. วันพุธชื่อ”สามลทัศ” มีหัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว

5. วันพฤหัสบดี มีชื่อว่า “กาโลทุกข์” มีหัวเป็นกวาง มีผิวกายสีเหลืองอ่อน

6. วันศุกร์มีชื่อว่า “ยักษ์นงเยาว์” มีหัวเป็นโค ผิวกายสีฟ้าอ่อน

7. วันเสาร์ชื่อว่า “เอกาไลย์” มีหัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ

แม่ซื้อทุกตนทรงอาภรณ์สีทอง กล่าวกันว่าแม่ซื้อทั้งเจ็ดตนนี้ แต่ละตนจะสำแดงเดชให้ทารกได้รับความเจ็บป่วยต่างๆ กันไป เช่น ทำให้ปวดท้อง อาเจียน ร้องไม่หยุดหรือบางครั้งก็มีอาการหวาดผวา


ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้แม่ซื้อมารบกวนทารกให้เกิดอาการเจ็บป่วย คนสมัยโบราณจึงคิดหาวิธีการไม่ให้แม่ซื้อสำแดงเดชให้โทษแก่ทารก โดยทำพิธีที่เรียกว่า “พิธีบำบัดพิษแม่ซื้อ” โดยผู้ทำพิธีจะทำบัตรขึ้นมาใบหนึ่ง ในบัตรจะใส่ของกินต่างๆ เช่น ข้าว น้ำ กุ้งพล่า ปลาฯลฯ และตุ๊กตาดินรูปผู้หญิงนั่งพับเพียบประคองเด็กอยู่ในตัก

เมื่อเจ้าพิธีกล่าวคำในพิธีจบก็จะหักหัวตุ๊กตาใหัหลุดออก เสมือนให้แม่ซื้อเอาไปเล่นแทนได้ ทารกก็จะไม่เจ็บป่วยจากการรบกวนของแม่ซื้ออีก

ส่วนในภาคเหนือ “แม่ซื้อ” จะหมายถึงเทวดาที่คุ้มครองเด็กแรกเกิดหรือเป็นเทวดาประจำตัวทารก ซึ่งก็จะมี ๗ นาง แต่ละนางก็จะมีชื่อเรียกและการแต่งกายคล้ายกับทางภาคกลางที่กล่าวข้างต้น

สำหรับภาคใต้ “แม่ซื้อ” เป็นสิ่งเร้นลับที่อยู่ในความเชื่อของชาวบ้าน ไม่มีตัวตน จะมีฐานะเป็นเทวดาหรือภูตผีก็ไม่ปรากฏชัด ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของทารกตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ ๑๒ ขวบ มีด้วยกัน ๔ ตน เป็นผู้หญิงชื่อ ผุด ผัด พัดและผล แต่ในบททำขวัญเด็กของนายพุ่ม คงอิศโร หมอทำขวัญจังหวัดสงขลา กล่าวว่า แม่ซื้อมีทั้งชายและหญิงดังบททำขวัญที่ว่า

“แม่ซื้อสี่คน ชื่อเสียงชอบกลทั้งหญิงทั้งชาย เพ็ดทูล เพ็ดพล่าน เพ็ดทนเพ็ดทาน อาจารย์กดหมาย เรียกว่าปู่ตา รักษาร่างกาย แม่ซื้อผู้ชาย เร่งคลายออกมา นางกุมารี นางเอื้อย นางอี นางนาฏสุนทรี ที่เฝ้ารักษา เชิญมาแม่มา บูชาส่าหรี”

ส่วนในบททำแม่ซื้อของนายปาน เพชรสุวรรณ จังหวัดนครศรีธรรมราชบอกว่า

“แม่ซื้อ” เดิมเป็นเทพธิดา พระอิศวรมีบัญชาให้ “อันตรธานหายกลายเป็นแม่ซื้อ ลงมารักษาทารก”

ตามความเชื่อ แม้ว่าแม่ซื้อจะถือว่าเป็นพี่เลี้ยงทารกก็จริงอยู่ แต่บางครั้งก็ให้โทษได้เช่นกัน มีการแปลงเพศพันธุ์เป็นสิ่งต่างๆ หลอกหลอนให้ทารกตกใจ หรือเจ็บป่วยได้ ดังนั้น เพื่อให้ทารกหายเป็นปกติ จึงมีการจัดพิธี “ทำแม่ซื้อ” หรือ “เสียแม่ซื้อ” ขึ้น

บางครอบครัวแม้ทารกจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ยังทำพิธีดังกล่าวอยู่ดี ทั้งนี้ ด้วยเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคลแก่เด็ก

สำหรับพิธี ”ทำแม่ซื้อ” หรือ “เสียแม่ซื้อ” นั้นหมายถึงพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้เด็กทารกหายจากอาการสะดุ้งผวา หรือการเจ็บไข้ได้ป่วย และได้รับการดูแลรักษาด้วยดีจากแม่ซื้อ การทำพิธีมักจะทำในวันเกิดของเด็ก หากเป็นวันข้างขึ้นก็ให้ใช้วันคี่ ข้างแรมให้ใช้วันคู่

ทางด้านภาคอีสาน เป็นความเชื่อในสังคมเขมร-ส่วย ว่า ทุกคนที่ปฏิสนธิในครรภ์มารดานั้น มีแม่ผู้สร้างทารกและเลี้ยงดูในครรภ์ ที่เรียกว่า มนายเดิม หรือ มนายสะโนน (สะโนน แปลว่า ผู้ปั้น)

มนายเดิม เป็นภาษาเขมร (“มนาย”แปลว่า แม่ ส่วน”เดิม” แปลว่า ต้น หรือ เก่าก่อน ) รวมความแล้วหมายถึง แม่คนเก่าก่อน

แม่ที่ว่านี้เป็นผีพรายที่มีหน้าที่ปั้นและสร้างเด็กทารกในครรภ์ และเฝ้าเลี้ยงดูจนกระทั่งคลอดออกมา แล้วยังตามมาอภิบาลด้วยความรักและหวงแหน หรือมาหยอกล้อเล่นด้วย ชาวบ้านเชื่อว่าทารกเกิดใหม่ที่มักนอนยิ้มกับอากาศอยู่คนเดียว คือมีผีพรายมาหยอกเล่นกับเด็ก

แม่ผีพรายนี้เมื่อเห็นเด็กทารกมีแม่ใหม่ก็หวงแหน อยากได้ลูกกลับไปอยู่เมืองผีกับตน จึงทำให้ เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ นานา เช่นนอนสะดุ้ง ร้องไห้ผิดปกติ บางรายหน้าเขียวไม่มีสาเหตุ เหล่านี้เป็นต้น จึงมักมีพิธีแบ่งลูกผีลูกคน ซึ่งเป็นพิธีรับขวัญเด็กอ่อนอย่างหนึ่ง คล้ายภาคกลางที่ทำพิธีแม่ซื้อ พิธีการคือนำเด็กทารกมาใส่กระด้งร่อน แล้วกล่าวว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใคร ใครเอาไปเน้อ” ฝ่ายพ่อแม่ก็จะรับว่าเป็นลูกตน คนทำพิธีก็จะส่งลูกให้ แม่มนายเดิมก็จะรู้ว่าทารกนั้นเป็นลูกคนแล้ว ก็จะไม่มารบกวนอีก

นอกจากการทำพิธีเกี่ยวกับแม่ซื้อดังที่ว่ามาแล้ว ในสมัยก่อนยังมีการเขียนภาพแม่ซื้อลงในแผ่นผ้าขาว ลักษณะคล้ายยันต์เพื่อแขวนไว้ที่เปลเด็ก โดยเขียนด้วยยางมะเดื่อ และระบายสีแม่ซื้อตามสีอาภรณ์และสีกายของแม่ซื้อประจำวันนั้นๆ และด้านหลังผ้าขาวนี้ ยังต้องลงภาพท้าวเวสสุวัณทั้งหน้ายักษ์และหน้ามนุษย์ไว้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆที่จะเกิดกับเด็ก

ท้าวเวสสุวัณ หรือ ท้าวกุเวร นี้ ท่านเป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาลประจำทิศเหนือ เป็นใหญ่ในยักษ์ทั้งปวง เชื่อกันว่าท่านเป็นเทพแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย และมีพลังในการป้องกันภูตผีปีศาจหรือสิ่งอัปมงคลต่างๆ ส่วนคัมภีร์ทางพุทธศาสนากล่าวว่าท่านสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน

“แม่ซื้อ” แม้จะเป็นเพียงความเชื่อ แต่ก็นับเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดของคนโบราณที่พยายามคิดค้นวิธีการต่างๆที่จะปกป้องลูกหลานของตนให้มีชีวิตอย่างปกติสุข หลีกเลี่ยงการเจ็บไข้ได้ป่วย อีกทั้งยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเด็กให้เกิดความเชื่อมั่น
ขึ้นอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น