วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ปี 2012



เห็นเค้าตื่นกลัวภัยพิบัติปี 2012 กัน เพราะปฏิทินชาวมายาไปสิ้นสุดวันที่ 22 ธันวาคม ใช่หรือเปล่า

ในแง่อื่นๆก็มีพาดพิงถึงปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์เอาไว้ด้วย ทั้งดาวเรียงตัวทั้งดาวนิบิรุสทั้ง….อะไรอีกหละ? ก็เลยอยากจะดูปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ล่วงหน้าผ่านโปรแกรมดูดาวซักหน่อย แต่น่าเสียดาย ที่โปรแกรมนี้ไม่รู้จักดาวนิบิรุส - -!





ปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ตลอดปี 2012 มีดังต่อไปนี้



5 มกราคม 2012 ดวงอาทิตย์ใกล้โลกที่สุดด้วยระยะห่าง 147,097,209 กิโลเมตร เวลา 7:33:23 ทำให้แรงโน้มถ่วงดวงอาทิตย์สูงที่สุด น่ากลัวมั้ยยยย เหอๆๆ แต่มันก็ใกล้ที่สุดของมันอย่างงี้ทุกๆต้นปีหละ หรือใกล้กรุงเทพฯที่สุดเวลา 12:22 น.

เห็นแล้วนะครับ ว่าการที่ดวงอาทิตย์ใกล้โลกที่สุด ไม่มีผลต่อฤดูกาลบนโลกเลย เนื่องจากเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

(ชมภาพประกอบวันที่ 28 พฤศจิกายน 2012)



24 มกราคม 2012 วันที่กรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์ขึ้นช้าที่สุด เวลา 6:49:38 น.



6 มีนาคม 2012 ดาวอังคารใกล้โลกที่สุด เวลา 0:01:07 น. ด้วยระยะห่าง 100,780,525 กิโลเมตร

หรือใกล้กรุงเทพฯที่สุด (ตามส่วนโค้งของโลก) เวลา 0:23 น.



 


เมื่อดาวเคราะห์ดวงใดมาใกล้โลกที่สุดนี้ ถือได้ว่าเป็นวันที่โลกอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวเคราะห์ดวงนั้นได้ครับ เหมือนดาวเรียงตัวกันเลย แต่ว่ามันไม่มีหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมาเรียงตัวครบทุกดวงครับ จริงๆดาวเคราะห์มีทั้งวันที่ใกล้โลกที่สุดและวันที่ไกลโลกที่สุดหละนะ



แต่ถ้าจะพยายามโยงมาเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ ก็คงต้องเอาวันที่มันใกล้โลกที่สุดอ่ะนะ เพราะแรงโน้มถ่วงของมันจะกระทำต่อโลกสูงที่สุด และแสงสว่างของมันยังมาเขย่าขวัญสั่นประสาทอีกด้วย 






20 มีนาคม 2012 ดวงอาทิตย์ตั้งฉากเหนือเส้นศูนย์สูตร (ขาขึ้น) เวลา 12:13:50 น.



25 มีนาคม 2012 ดาวพุธใกล้โลกที่สุดรอบที่ 1 ไม่สามารถมองเห็นได้เพราะเป็นดาวเคราะห์วงใน



16 เมษายน 2012 ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดเวลา 1:45:29 น. ด้วยระยะห่าง 1,304,437,012 กิโลเมตร

หรือใกล้กรุงเทพฯที่สุด เวลา 0:35 น.



 


30 เมษายน 2012 ดาวศุกร์สว่างที่สุด ด้วยความสว่าง -4.41

ว่ากันว่า นอกจากดวงจันทร์แล้ว ดาวศุกร์ก็เป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่สามารถมองเห็นได้ในเวลากลางวัน วันนั้นก็ขอเชิญชมนะครับ ที่กรุงเทพฯ ดาวศุกร์จะขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในท้องฟ้าเวลา 14:57:49 น. โดยให้หันหน้าไปทางทิศเหนือ แล้วเงยหน้าขึ้นประมาณ 76 องศาครับ



 


หลังพระอาทิตย์ตกดิน

ดาวศุกร์ขณะสว่างที่สุดนั้น มีสภาพเป็นเสี้ยวนะครับ เพราะหากดาวศุกร์เต็มดวงหละก็ ดาวศุกร์จะไปอยู่อีกฟากหนึ่งของดวงอาทิตย์ ซึ่งนั่นจะเป็นจุดที่ไกลที่สุด ทำให้มองไม่เห็นครับ และหากดาวศุกร์มาใกล้โลกที่สุด ดาวศุกร์จะหันด้านมืดเข้าหาโลก ทำให้มองไม่เห็นเหมือนดาวพุธครับครับ

ดังนั้น ตำแหน่งที่ดาวศุกร์จะสว่างที่สุด จึงเป็นตำแหน่งหนึ่งที่ไม่ใกล้สุดและไม่ไกลสุด จึงมีลักษณะเป็นเสี้ยวดังนี้ครับ





6 พฤษภาคม 2012 เกิดปรากฎการณ์ Super moon 2012 โดยพระจันทร์เพ็ญเวลาประมาณ 10:37 น. ซึ่งขณะนั้นพระจันทร์ไม่ได้อยู่ฝั่งประเทศไทย ส่วนเวลาที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดจริงๆคือเวลา 10:35:21 น. ผิดกันไม่กี่นาที ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์คือ 356,951 กิโลเมตร

สำหรับกรุงเทพฯ จะเข้าใกล้ดวงจันทร์ที่สุดตามส่วนโค้งของโลกก่อนนั้น คือวันที่ 5 พฤษภาคม เวลา 23:50 น. ด้วยระยะห่าง 351,673 กิโลเมตร ซึ่ง Super moon 2011 (20 มี.ค.) ยังจะใกล้กว่าครับ

(ชมภาพประกอบวันที่ 28 พฤศจิกายน 2012)




21 พฤษภาคม 2012 เกิดสุริยุปราคาวงแหวนขึ้น http://eclipse.gsfc.nasa.gov/SEsearc...p?Ecl=20120520





ทุกพื้นที่ในประเทศไทยยกเว้นภาคใต้ สามารถสังเกตเห็นได้ตอนพระอาทิตย์ขึ้น โดยปรากฎเป็นชนิดบางส่วน สถานที่สำคัญติดแม่น้ำโขงที่เห็นกินลึกที่สุด เช่น ผาชะนะได จังหวัดอุบลฯ พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 5:32:08 น. คลายหมด 6:09 น., พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 5:33:35 น. คลายหมด 6:10 น. และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จังหวัดมุกดาหาร พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 5:34:05 น. คลายหมด 6:10 น.








ส่วนช่างภาพจำเป็นต้องทราบมุมอาชิมุธ(มุมทิศ) หากต้องการถ่ายรูปสุริยุปราคาให้ติดกับวัตถุอื่นเพื่อความสวยงาม ก็เพื่อให้เตรียมตำแหน่งถ่ายภาพไว้ได้ทันก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งทุกแห่งมีมุมอาชิมุธใกล้เคียงกันคือ 69 องศาครับ

สำหรับสถานที่ชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สำคัญๆอื่น เช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 5:44:35 น. คลายหมด 6:08 น. แต่น่าเสียดายที่วันนั้นพระอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นตรงช่องประตูครับ

กรุงเทพฯ เวลา 5:55:37 น. คลายหมด 6:08 น., กรุงฮานอย Ha Noi เวียดนาม 5:22:10 น.








1 มิถุนายน 2012 กรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์ขึ้นเร็วที่สุดในรอบปี เวลา 5:53:04



4 มิถุนายน 2012 จันทรุปราคาบางส่วน กินลึกสุดเวลา 18:04 ซึ่งพระจันทร์ยังไม่ขึ้น, นราธิวาสพระจันทร์ขึ้นเวลา 18:28 น., กรุงเทพฯ 18:46 น. โดยเงามืดออกหมดเวลาประมาณ 19:05 น. ซึ่งพระจันทร์อยู่สูงเพียง 4 องศาเท่านั้น



6 มิถุนายน 2012 เกิดปรากฎการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ถือได้ว่าดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์ และโลก มาเรียงตัวกัน สามารถเห็นพระอาทิตย์เป็นไฝได้ทั่วประเทศ แนะนำให้ดูตอนพระอาทิตย์ขึ้น เผื่อจะมองเห็นได้โดยไม่ต้องใช้แผ่นกรองแสง แต่วันนั้นพระอาทิตย์ขึ้นเร็วหน่อยนะ ที่กรุงเทพฯ พระอาทิตย์ขึ้นตั้งแต่เวลา 5:53 น. แต่หากมีปัญหาดินฟ้าอากาศ ยังมีโอกาสเห็นต่อไปอีกจนกว่าดาวศุกร์จะออกจากดวงอาทิตย์ราวๆ 11:30 น. นะครับ

ระยะห่างดาวศุกร์ 43,189,293 กิโลเมตร ระยะห่างดวงอาทิตย์ 151,801,021 กิโลเมตร





หากพลาดชมในปี 2012 จะต้องได้รออีก 105 ปีเชียวนะครับ

ดาวศุกร์วันที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์นั้น ก็คือวันที่ดาวศุกร์ใกล้โลกที่สุดนั่นเอง ขนาดปรากฏของดาวศุกร์ขณะนั้นคือ 57.8 ฟิลิปดา แบบว่า มีขนาดใหญ่กว่าวันที่สว่างที่สุดด้วยซ้ำ ผิดกันก็เพียง วันที่สว่างที่สุดเป็นจุดขาวในพื้นสีดำ แต่ตอนผ่านหน้าดวงอาทิตย์ จะเป็นจุดดำในพื้นสีขาวอมส้ม มาลุ้นกันว่าจะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือไม่

ภาพเปรียบเทียบขนาดปรากฏดาวศุกร์วันที่สว่างที่สุด กับวันที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์













17 มิถุนายน 2012 ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี แนวคราสเฉียดขั้วโลกเหนือ



20 มิถุนายน 2012 ตอนเช้ามืด ดาวศุกร์ไปเป็นตาข้างหนึ่งของกลุ่มดาววัว จะทำให้วัวดุมั้ยเนียะ





21 มิถุนายน 2012 ดวงอาทิตย์ค่อนไปทางเหนือที่สุด เวลา 6:02:50 น. เป็นวันที่ประเทศเหนือเส้นศูนย์สูตรทุกประเทศ มีกลางวันยาวนานที่สุด กรุงเทพฯพระอาทิตย์ขึ้นเวลา 5:55:26 น. (ไม่ใช่วันที่ขึ้นเร็วที่สุด) และตกเวลา 18:44:15 น. (ไม่ใช่วันที่ตกช้าที่สุด) ทำให้กลางวันยาวถึง 12 ชั่วโมง 48 นาที 49 วินาที อำเภอแม่สายกลางวันยาวที่สุดในประเทศไทย 13 ชั่วโมง 14 นาที 26 วินาที



28 มิถุนายน 2012 ดาวพลูโตใกล้โลกที่สุด ไม่มีภาพประกอบ เพราะเจอโปรแกรมดูดาวหักหลัง ด้วยเอาเอาดวงจันทร์ของโลกไปเป็นดาวพลูโตเฉยเลย - -! แต่ก็เข้าใจ บางทีเราอาจจะยังรู้จักพื้นผิวของดาวพลูโตนี้อยู่น้อยมาก



5 กรกฎาคม 2012 ดวงอาทิตย์ไกลโลกที่สุด เวลา 10:34:24 ด้วยระยะห่าง 152,092,432 กิโลเมตร

(ชมภาพประกอบวันที่ 28 พฤศจิกายน 2012)



9 กรกฎาคม 2012 กรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์ตกช้าที่สุด เวลา 18:46:18 น.



15 กรกฎาคม 2012 ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี ไม่เห็นในประเทศไทย

เนื่องจากผมไม่มีโปรแกรมคำนวณเส้นทางคราสที่ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์พาดผ่าน ครั้นจะให้ดูทีละเมืองที่เห็นปรากฎการณ์ก็ไม่ไหว เลยขอบอกเพียงว่า ไม่เห็นในประเทศไทย ก็แล้วกันนะครับ - -!



20 กรกฎาคม 2012 ดวงจันทร์บังดาวพุธ มองไม่เห็นในประเทศไทย



25 กรกฎาคม 2012 ดาวพุธใกล้โลกที่สุดรอบที่ 2

และเกิดปรากฎการณ์พระจันทร์ไม่ยิ้มขึ้น ตอนหัวค่ำ








12 สิงหาคม 2012 ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีฉลองวันแม่ เห็นได้ที่ภาคใต้ตอนล่าง สงขลา(ตอนล่าง), สตูล, ปัตตานี, ยะลา และ นราธิวาส ส่วนกรุงกัวลาลัมเปอร์และกรุงจาการ์ตาเห็นตอนคลาย และกรุงมะนิลาเห็นตลอดปรากฎการณ์

ทั้งนี้ ผมจะรายงานผล ณ จังหวัดนราธิวาส เพราะเป็นจังหวัดที่น่าจะเห็นได้ชัดที่สุดในประเทศ เนื่องจากจะเห็นดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีด้วยมุมเงยสูงจากพื้นที่สุด โดยดวงจันทร์เข้าบังดาวพฤหัสบดีทางด้านสว่าง และออกทางด้านมืด สามารถชมได้ตั้งแต่เวลา 1:34 น. ถึงเวลา 2:13 น.




ที่กรุงเทพฯ เห็นดวงจันทร์เข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีเท่านั้น ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ถ่ายรูปดวงจันทร์ของโลกกับดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีในภาพเดียวกันครับ



อีก 2 วันต่อมา ไปบังดาวศุกร์ต่อ

14 สิงหาคม 2012 ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ เห็นได้ที่ประเทศญี่ปุ่น 










21 สิงหาคม 2012 เกิดปรากฎการณ์พระจันทร์เกือบยิ้มขึ้น







24 สิงหาคม 2012 ดาวเนปจูนใกล้โลกที่สุด ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้




8 กันยายน 2012 ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี ไม่เห็นในประเทศไทย



20 กันยายน 2012 ดวงจันทร์บังดาวอังคาร ไม่เห็นในประเทศไทย



22 กันยายน 2012 ดวงอาทิตย์ตั้งฉากเหนือเส้นศูนย์สูตร(ขาลง) เวลา 21:48 น.



28 กันยายน 2012 ดาวยูเรนัสใกล้โลกที่สุด เวลา 19:32:11 ห่าง 2,851,534,547 กิโลเมตร

หรือใกล้กรุงเทพฯที่สุดเวลา 23:28 น.




















ดาวยูเรนัสมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือไม่?

ข้อมูลจาก : สมาคมดาราศาสตร์ไทย "โดยปรกติ สายตาคนทั่วไปภายใต้สภาพท้องฟ้าที่ดีสามารถมองเห็นดาวที่จางที่สุดถึงอันดับ 6 ดาวยูเรนัสช่วงที่เข้าใกล้โลกที่สุด จะมีอันดับความสว่างราว 5.7 ซึ่งอยู่ในพิสัยที่พอจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เนื่องจากดาวที่มีความสว่างใกล้เคียงกับระดับนี้มีเป็นจำนวนมาก จุดแสงของดาวยูเรนัสจะกลมกลืนไปกับดาวฉากหลังจนไม่อาจจำแนกว่าจุดไหนเป็นดาวยูเรนัสได้เลย ดังนั้นต้องถือว่าดาวยูเรนัสเป็นดาวที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จำแนกไม่ได้ หรือเกือบไม่ได้"

ก็ลองดูนะครับ











6 ตุลาคม 2012 ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี มองไม่เห็นในประเทศไทย



17 ตุลาคม 2012 ดวงจันทร์เฉียดดาวพุธ ไม่มีที่ใดมองเห็น



2 พฤศจิกายน 2012 ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี มองไม่เห็นในประเทศไทย



14 พฤศจิกายน 2012 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงขึ้น มองไม่เห็นในประเทศไทย แนวคราสของสุริยุปราคา http://eclipse.gsfc.nasa.gov/SEgoogl...13Tgoogle.html 
ส่วนใหญ่อยู่ในทะเลแฟซิฟิกใต้ บางส่วนพาดผ่านทางตอนเหนือของประเทศออสเตรีย กินพื้นที่สองรัฐ









ใครอยากไปชมสุริยุปราคาเต็มดวงแห่งปี 2012 ว่าจะงดงามเพียงใด ก็ขอเชิญนะครับ โดยผมแนะนำให้ไปดูที่รัฐ Queensland ตรงชายหาดฝั่งทะเลตะวันออก ที่เส้นกึ่งกลางคราสสีแดงตัดกับถนนเลียบชายฝั่ง Captain Cook Hwy แถวนั้นคือหาด Oak Beach เนื่องจากเป็นส่วนของแผ่นดินที่สามารถเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ได้นานที่สุดครับ โดยเห็นเต็มดวงนาน 2 นาที 5 วินาที (เอง - -!) และเดินทางสะดวกที่สุดครับ

คาดว่าวันนั้นบนถนนคงเต็มไปด้วยรถยนต์มากมาย











ภาพจำลองจากโปรแกรมดูดาว สภาพเหมือนดาวเรียงตัวกันมาก แต่จริงๆแล้วไม่ได้เรียงตัวกันแต่อย่างใดครับ เป็นเรื่องของมุมมอง ดาวแต่ละดวงที่เห็นนั้น ล้วนอยู่ห่างออกไปไกลไม่เท่ากันครับ เพียงแต่ระนาบโคจรใกล้เคียงกันเท่านั้น เลยเหมือนเรียงตัวกันครับ






แถมภาพที่ซิดนีย์ซะหน่อย










ในวันเดียวกันนี้ยังมีปรากฎการณ์ดวงจันทร์บังดาวพุธด้วย แหมดวงจันทร์ขยันซะจริง บังดวงอาทิตย์แล้วไปบังดาวพุธต่อ แต่ก็ไม่เห็นในประเทศไทยเหมือนกันครับ





17 พฤศจิกายน 2012 ดาวพุธใกล้โลกที่สุดรอบที่ 3



20 พฤศจิกายน 2012 กรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์ตกเร็วที่สุด เวลา 17:43:29 น.



28 พฤศจิกายน 2012 เกิดจันทรุปราคาเงามัว เวลาประมาณ 21:35 น. เห็นได้ในประเทศไทย แต่แบบเงามัวก็เห็นได้ยากซักหน่อย

และยังเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงมีขนาดเล็กที่สุดในรอบปี (เรียก Small moon ได้หรือเปล่า) โดยห่างโลกที่สุดเวลา 2:36:20 น. ด้วยระยะห่าง 405,995 กิโลเมตร ส่วนเวลาพระจันทร์เพ็ญ สามารถถือเอาเวลา(กึ่งกลาง)การเกิดจันทรุปราคาได้ครับ

ภาพเปรียบเทียบดวงอาทิตย์ใกล้-ไกลโลกที่สุด และดวงจันทร์ใกล้-ไกลโลกที่สุดครับ













29 พฤศจิกายน 2012 ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี มองไม่เห็นในประเทศไทย

แต่อันนี้ขอจัดภาพหน่อย เพราะอีก 2 วันดาวพฤหัสบดีก็จะใกล้โลกที่สุด เพราะดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่แรงโน้มถ่วงสูงที่สุด ดังนั้น เมื่อดวงจันทร์มาบังด้วย ดวงจันทร์ก็จะเกือบเต็มดวงด้วย (ผ่านวันเต็มดวงมาแล้ว 1 วัน) จึงเป็นอะไรที่เรียงตัวกันพอสมควร


ภาพจากกรุงวินด์อุก สาธารณรัฐนามิเบีย (เคยได้ยินมั้ยเนียะ) มันช่างสวยงามปนน่ากลัวมากจริงๆเลยครับ ^ ^







1 ธันวาคม 2012 ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี เวลา 21:54:45 ด้วยระยะห่าง 608,645,263 กิโลเมตร

หรือใกล้กรุงเทพฯ ที่สุดเวลา 23:50 น.








ตำแหน่งดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี






ซูมไปดูดวงจันทร์บริวาร 4 ดวงใหญ่อีกซักหน่อยครับ




12 ธันวาคม 2012 ดวงจันทร์บังดาวพุธ มองไม่เห็นในประเทศไทย



21 ธันวาคม 2012 และแล้ว วันที่ได้รับการกล่าวขานถึงที่สุดก็มาถึง จริงๆแล้วเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ค่อนไปทางใต้มากที่สุดเท่านั้นเอง แต่อย่างน้อยทำให้เราได้รู้ว่า ชาวมายากำหนดปฏิทินตามสุริยคติตามฤดูกาล คือตามการเอียงของแกนโลกเข้าหาดวงอาทิตย์เท่านั้นเอง โดยขั้วโลกใต้เอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ที่สุดเวลา 18:15:08 น. เป็นวันที่ประเทศที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรมีกลางวันสั้นที่สุด

กรุงเทพดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 6:40:27 น. (ไม่ใช่วันที่ขึ้นช้าที่สุด) ดวงอาทิตย์ตกเวลา 17:51:56 น. (ไม่ใช่วันที่ตกเร็วที่สุด) ทำให้กลางวันยาวเพียง 11 ชั่วโมง 11 นาที 29 วินาที


จากภาพ จะเห็นพื้นที่ขั้วโลกใต้มากที่สุด และโลก(เฉพาะในโปรแกรม)ก็ยังคงอยู่ดีใช่มั้ยครับ




และวันนี้ไม่ได้มีดาวเรียงตัวตามข่าวลือบางกระแสแต่อย่างใด เพราะดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ดวงสุดท้ายที่เรียงตัวหรือใกล้โลกที่สุดไปแล้ว หลังจากนั้นไม่มีดาวดวงใดเรียงตัวกับโลกอีก ก็แสดงว่า 21 ธันวาคม 2012 ดาวเคราะห์ทั้งหลายค่อนข้างอยู่อย่างกระจัดกระจายเลยหละครับ



26 ธันวาคม 2012 ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี มองไม่เห็นในประเทศไทย



รู้สึกว่าปี 2012 นี่ดวงจันทร์จะบังดาวพฤหัสบดีบ่อยมาก เพราะระนาบวงโคจรของดวงจันทร์ชี้ไปทางดาวพฤหัสบดีนั่นเองครับ


ครับ เป็นไงครับ ข้อมูลแน่นปึ๊กดีมั้ย ข้อมูลบางอย่างที่โปรแกรมไม่อาจทราบได้ คงเป็นเรื่องของดาวหางครับ ไม่รู้ต่อไปจะมีการค้นพบดาวหางโคจรแวะเวียนเข้ามาบ้างหรือไม่

และเชิญชมข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับข่าวลือโลกแตกปี 2012 ได้ที่เว็ปของสมาคมดาราศาสตร์ไทย 
ตามลิงค์นี้นะครับ   http://thaiastro.nectec.or.th/librar...q_doomsday.php









ที่มา :  http://board.palungjit.com

____________________

เครดิต : Mr.Boy_jakkrit

________________________________

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น